วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

สัมภาษณ์ เสียงพูด “ธงชาติและเพลงชาติไทย” เขาคือใครกัน?

“ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย”


ประพันธ์ หิรัญพฤกษ์

เจ้าของเสียงพูดดังกล่าวซึ่งเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนทุกท่านยืนตรงเคารพธงชาติ  “ประพันธ์ หิรัญพฤกษ์” ชายชราวัย 74 ที่ปัจจุบัน เกษียนราชการและออกมาใช้ชีวิตเรียบง่าย ขณะที่ยังทำงานรับใช้มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดเผยความเป็นมา ตลอดจนแง่คิดจากชีวิตและการทำงานของคนคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของเสียงอมตะมาตราบกระทั่งทุกวันนี้…
  • ขอย้อนถามไปถึงที่มาที่ไปยังไง ก่อนจะได้มาอ่านคำขึ้นต้นก่อนเพลงชาติไทย เมื่อก่อน ลุงเคยเป็นนักดนตรีอยู่วงสุนทราภรณ์ ก็เล่นดนตรี ตระเวนไปทั่ว แต่มีครั้งหนึ่ง ลุงได้เห็นผู้ประกาศข่าวเขามาดูดนตรี จึงรู้สึกสนใจและลองไปสอบ แล้วลุงก็สอบผ่าน เข้าทำงานรับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่กรมประชาสัมพันธ์ ในตำแหน่งผู้ประกาศข่าว รวมเวลาที่รับราชการมาก็เกือบ 40 ปี
  • เขามีการคัดเลือกอย่างไรหรือคะ ในตำแหน่งของผู้ประกาศสมัยนั้น ก็สอบธรรมดา มีการแข่งขันกันตามปกติของการสอบเข้าบรรจุข้าราชการ แต่บังเอิญลุงสอบได้ (หัวเราะ) เเต่ว่าครั้งแรกนั้นสอบไม่ผ่าน เพราะเขารับคนเดียว แต่ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2510 เขารับข้าราชการหลายอัตรา ลุงก็เลยสอบได้ (หัวเราะ)
  • เพราะน้ำเสียงของเราหล่อชัดเจนหรือเปล่าคะ ไม่หรอก (หัวเราะ) ลักษณะคุณภาพของผู้ที่เป็นผู้ประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ เสียงของวิทยุประเทศไทยมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือเสียงต้องทุ้มนิดๆ แต่จุดสำคัญนั้นอยู่ที่การอ่านข่าวที่ลื่นไหล ไม่มีปัญหาของการอ่าน อักขระชัดเจนในภาษาไทย นี่คือสิ่งสำคัญมากกว่า
  • หลายคนมักถามว่าทำไมถึงต้องมีคำอ่านก่อนเพลงชาติไทยจะขึ้น เพื่อให้คนได้รู้ว่า ทำไม เราต้องยืนตรงเพื่อเคารพธงชาติไทยและเพลงชาติไทย
  • หลากคนหลากความคิด และหลายคนก็สงสัยว่าทำไมเราต้องยืนเคารพเพลงชาติ คุณลุงคิดอย่างไรบ้างคะ มันก็เป็นความคิดของเขา แต่ในความคิดของลุงคือการได้หยุด ได้คิด บางคนยืนไม่พอร้องตามเลย อินไปมาก (ยิ้ม) แต่ว่าในส่วนของลุง มันก็ดีอย่างหนึ่ง ให้หยุดแล้วคิด เมืองไทยของเรา ชาติไทยของเรา เราโตมาเพราะบรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง ส่วนบางคนที่ว่าไม่จำเป็น ก็แล้วแต่เขา เพราะมันก็ย่อมจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะให้คนคิดแบบเดียวกันหมด มันคงไม่ได้หรอก คนเราพื้นฐานมันมากันคนละอย่างครับ
ขอบคุณที่มา ประเพณีไทยๆ.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น