วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

สถาปัตยกรรมไทย คุณค่าสู่สังคม


สถาปัตยกรรมไทย คือมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญของชาติ เหตุเพราะสิ่งนี้เป็นผลงานรังสรรค์ที่เป็นภูมิปัญญาสั่งสมแห่งบรรพชนเรื่อยมานับแต่อดีตกาลนานมาแล้ว ทั้งเรือนไทย ตึกรามบ้านช่อง วัดวาอาราม ล้วนแล้วแต่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะต่างก่อกำเนิดภายใต้สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะงานที่มีมาจากรากทางวัฒนธรรมไทยอย่างเห็นได้ชัด
 และมูลเหตุหรือจุดมุ่งหมายในของสร้างประกอบไปด้วยภูมิปัญญาสร้างสรรค์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากการสร้างอาคารอื่นๆ ซึ่งอาจมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม แต่อาจมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมไม่มากนัก ตัวแทนสำคัญของผลงานสถาปัตยกรรมไทยที่เปี่ยมด้วยคุณค่าเชิงวัฒนธรรมนั้นสามารถหาดูได้ง่ายๆ เพียงไปวัดทำบุญก็จะพบเห็นได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นวัดที่สร้างอย่างปราณีต หรือมีช่างชั้นเยี่ยมเสกสรรค์ด้วยแล้วความงาม ความศรัทธา ก็จะปรากฎหรือสัมผัสได้ในใจของผู้ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนได้ทันที สถาปัตยกรรมไทยดีๆ อย่างเช่นศาสนสถาน จึงมีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง คุณค่าดังกล่าวอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป สามารถแจกแจงได้มากมายนอกเหนือจากคุณค่าทางศิลปกรรมอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังมีคุณค่าทางการศึกษา คุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังเช่นวัดวาอารามที่นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมกันอย่างมากมาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของวัด แต่เป็นผลลัพธ์ที่ประจักษ์แจ้งดังนานาอารยประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม เฉกเช่น สถาปัตยกรรมไทย ต่างได้รับประโยชน์ทางอ้อมนี้กันถ้วนหน้า และรักษาไว้ให้เดินควบคู่ไปกับงานสร้างสรรค์ใหม่ๆในปัจจุบัน สะท้อนออกซึ่งแนวคิดที่ว่าเราคงไม่อาจถวิลหาแต่อดีตอันเรืองรอง หรือไขว่คว้าแต่เทคโนโลยีอันล้ำสมัยเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ควรรับไว้และสร้างสมดุลให้แก่คุณค่าที่ดีทั้งสองด้านนั้น ดังเช่นการแพทย์แผนใหม่ให้ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ หรือปรัชญาตะวันออกที่กล่าวถึงสมดุลย์ทางธรรมชาติที่ต้องมีสิ่งคู่กันเพื่อส่งเสริมให้กันและกัน


สถาปัตยกรรมไทยอย่างเช่นวัดวาอารามนั้นเปี่ยมด้วยคุณค่าดังกล่าวแล้วมากมาย และมิได้มีไว้สำหรับใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น  แต่ยังมีไว้ชุบชีวิตที่เหี่ยวเฉาให้สงบและมีสติสำหรับในห้วงเวลาแห่งชีวิตที่เราประสบปัญหารุมเร้า สถานที่แห่งนี้ย่อมช่วยปลอบประโลมใจได้เป็นอย่างดื หรือมีไว้ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวทางศาสนา เป็นดังตำราเล่มใหญ่กางไว้ให้ได้เข้าไปศึกษาผ่านพุทธศิลป์ต่างๆ ที่ปรากฎมีบนตังงานสถาปัตยกรรมและมีไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำกับศิลปะไทยแขนงต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเรียกได้ว่าแทบจะครบถ้วนกระบวนงานช่างไทย เป็นการขัดเกลาจิตใจไปเฉกเช่นการเสพงานศิลป์ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในปัจจุบัน ซึ่งคุณค่าความงามในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดดังปรากฎเห็นชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาชื่นชมความงามของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยกันมากมาย เช่น วัดพระแก้ว เป็นต้น
มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าซึ่งมีอยู่มากมายไม่ได้มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ตามต่างจังหวัดท้องถิ่นหลายต่อหลายแห่งก็ล้วนเป็นอู่อารยธรรมที่มีคุณค่ายิ่ง ที่อวดชาวต่างชาติได้อย่างภาคภูมิ แม้สถาปัตยกรรมบางแห่งอาจเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ แต่กลับสูงด้วยคุณค่าแห่งความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น น่าเสียดายที่คนไทยด้วยกันเองกลับมองข้ามไป สิ่งเหล่านี้เป็นฐานอันมั่นคงของท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ วัฒนธรรมอื่นๆได้ เพียงแต่ต้องมีนักวิชาการ ผู้รู้ หรือแม้แต่ปราชญ์ท้องถิ่นที่จะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ดังเช่น สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้มีโครงการต่างๆหลายชิ้นที่ดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในเชิงวัฒนธรรมด้านต่างๆอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมไทยที่รวมไว้ตั้งแต่อาคารบ้านเรือนเรื่อยไปกระทั่งวัดวาอาราม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน ควรที่ชุมชนจะได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยเหล่านั้น โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้จะมีบทบาทที่แตกต่างจากอดีตไปแล้วก็ตาม แต่นั่นคือภูมิปัญญารากฐานที่ควรภูมิใจและหาทางสืบสานและสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ให้งอกงามจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปได้อย่างไม่ขาดสาย สิ่งที่ไม่สมสมัยก็ต้องปรับเปลี่ยไปเป็นธรรมดาแห่งลักษณะของวัฒนธรรม ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญคือการริเริ่มจากท้องถิ่นต่างๆนั้นเอง


คุณค่าที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยนั้นเราอาจเริ่มต้นเรียนรู้กันได้จากมรดกชิ้นสำคัญต่างๆของชาติ ที่บรมครูได้รังสรรค์ไว้แล้ว หากได้เรียนรู้อย่างเข้าใจจากงานชั้นเยี่ยม เราก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เพราะหากเราไม่เคยรู้เห็นของดี เราย่อมไม่สามารถประเมินคุณค่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้ เราจะได้มาเรียนรู้ร่วมกันในโอกาสต่อไป

ผู้เขียน : ประกิจ ลัคนผจง
บทความจาก : จุลสารสถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น