วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กว่าจะมาเป็น เพลงชาติไทย




เคยรู้กันไหมว่าเพลงชาติที่เราร้องกันทุกๆวันนั้นแท้ที่จริงแล้วมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

พอดีเมื่อวานนี้ได้ดูรายการ คุณพระช่วย” แล้วได้รู้ว่าเพลงที่บรรเลงก่อนจะเทียบนาฬิกาหรือก่อนเริ่มเพลงชาตินั้นจะเป็นเพลงไทยที่ สำเนียงพม่า เป็นเพลงที่ชื่อ พม่าประเทศ...

ส่วนเพลงชาติไทยที่เราร้องกันทุกวันนี้ มีประวัติที่มากันอย่างไร 

เราไปหาข้อมูลมานำเสนอแล้วคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับพวกเราคนไทย 

ที่อย่างน้อยถ้ามีใครมาถามเรา ถึงเพลงชาติไทยว่ามีประวัติอย่างไร เราคนไทยจะได้ไม่อายเค้า...




เพลงชาติไทย เป็น สัญลักษณ์ ประจำชาติ แสดงความเป็น เอกราช ของชาติ ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร เป็นแหล่ง รวมใจของคนในชาติให้เป็นจุดเดียวกัน สร้างความรู้สึกสำนึกในความเป็นพี่น้อง สร้างความภูมิใจ ในศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ระหว่างคนในชาติ และเพื่อปลุกใจให้เกิดความรักชาติ 
แต่เดิมประเทศไทยเรานั้นไม่ได้ร้องเพลงชาติกันแบบทุกวันนี้ เพราะกว่าจะมาเป็นเพลงชาติไทยที่เราร้องกันป่าวๆอยู่ทุกวันนี้แท้ที่จริงแล้ว เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 ที่ทหารอังกฤษนำเพลง ก๊อดเซฟเดอะควีน ของประเทศอังกฤษ มาใช้ในการฝึกทหารแตร ของไทย และเป็นเพลงประจำชาติของอังกฤษ สมัยนั้นจึงได้ถือว่า
เพลงนี้ เป็นเพลงเกียรติยศ ถวายความเคารพ ต่อพระมหากษัตริย์ และคนไทยจึงเรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ" ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึง ๒๔๑๔
หลังจากนั้นได้มีการนำเพลง ก๊อดเซฟเดอะควีน มาดัดแปลเนื้อร้องแต่คง ทำนองเดิมไว้ แต่ตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า จอมราชจงเจริญ นับว่านี้คือ เพลงชาติไทยฉบับแรก ของประเทศสยาม ในขณะนั้น ที่ประพันธ์เนื้อร้อง โดย
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

เพลงชาติไทยฉบับที่สอง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาส ประเทศสิงคโปร์ และได้มีการบรรเลงเพลง ก๊อดเซฟเดอะควีน” ถวายความเคารพ เนื่องจากขณะนั้น สิงคโปรเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หลังจากเสด็จกลับ จึงตระหนักว่า ประเทศจำเป็นต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเองขึ้น เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติ คณะครูดนตรีไทยจึงได้เลือก เพลงทรงพระสุบัน” หรือเรียกอีกอย่างว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความเป็นสากลขึ้นโดย นายเฮวุดเซน ( Heutsen )ใช้บรรเลงในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑

เพลงชาติไทยฉบับที่สาม คือเพลง สรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน) ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๗๕

เพลงชาติไทยฉบับที่สี่ หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (24 มิถุนายน2475) แล้ว เพลงชาติลำดับนี้เป็นเพลงชาติชั่วคราวคือ เพลงชาติมหาชัยประพันธ์โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (เนื่องจากมีการเตรียมการโดยสังเขปที่จะสร้างเพลงชาติขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิกของคณะผู้ก่อการท่านหนึ่งมอบหมายให้ พระเจนดุริยางค์ เป็น ผู้ประพันธ์ แต่ยัง ไม่เสร็จ เลยต้องใช้ทำนองเพลงไทยเดิม คือเพลงมหาชัย ไปพลางก่อน) ซึ่งถูกใช้เป็นเวลา 7วัน ก็เปลี่ยนแปลง เนื่องจากไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

เพลงชาติไทยฉบับที่ห้า  ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เป็นเพลงชาติแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี  คำร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์)
          จนกระทั่ง พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อเพลงชาติใหม่ เพลงที่ได้รับคัดเลือกคือฉบับที่ประพันธ์โดย จางวางทั่ว พาทยโกศล เพลงชาติฉบับนี้ได้ใช้เป็นเพลงบรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการอย่างเป็นทางการอยู่ระยะหนึ่ง สุดท้ายจึงเลือกใช้เพลงชาติฉบับของพระเจนดุริยางค์ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าในยุคนั้นชาติไทยหรือประเทศสยาม ณ เวลานั้นของเรามีเพลงชาติไทยถึง ๒ แบบ ๒ ทำนอง

เพลงชาติไทยฉบับที่หก ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๒ เป็นเพลงชาติที่เป็นฉบับของทาง "ราชการ" ฉบับแรก  เป็นเพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล เข้าต่อจากคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา ทำให้เนื้อร้องเพลงชาติยาวมากเกินไป คนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตราเท่านั้น

เพลงชาติไทยฉบับที่เจ็ด  ในปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ติดตามเรื่องราวของ #เพลงชาติไทย ได้อีกทาง Facebook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น